ทำไมต้องไหว้พระจันทร์! เคล็ดลับดีๆที่ไม่ได้มีแค่เสริมดวงเสริมโชคลาภ By หมอกิฟท์นางมารพยากรณ์

การไหว้พระจันทร์ ไม่ได้เป็นแค่การบูชาและขอพรเพื่อความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะความโรแมนติกและอบอุ่นซ่อนอยู่ด้วย ในปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน  2566  ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  และตรงกับขึ้น15 เดือน 8 ตามปฏิทินจีน

ตามความเชื่อของชาวจีน เชื่อว่า พระจันทร์ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์และมั่งคั่ง เชื่อว่าหากไหว้พระจันทร์แล้วความสมบูรณ์และมั่งคั่งก็จะเกิดกับตัวเอง อีกทั้งในทางโหราศาสตร์ยังถือเป็นตัวแทนแห่งโชคลาภและเสน่ห์เมตตา

 การไหว้พระจันทร์ตามวัฒนธรรมจีน จะมีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง คืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด  ซึ่งเชื่อกันว่า การไหว้พระจันทร์ ถือเป็นการเสริมสิริมงคล พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมเรื่องโชคลาภ และเมตตามหาเสน่ห์ไปในตัว และเป็นเป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านเกิดไปไกล คิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดี

สำหรับการไหว้พระจันทร์ หลังเสร็จพิธีเมื่อธูปและเทียนดับลง ก็จะมีการนำขนมไหว้พระจันทร์มาแบ่งกันทานในครอบครัว โดยต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามขาดหรือเกิน และแต่ละชิ้นที่แบ่งต้องมีขนาดที่เท่า ๆ กัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ทุกคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่สะท้อนความรักความอบอุ่นของครอบครัว

เทศกาลไหว้พระจันทร์ถือว่ามีความพิเศษมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ครอบครัวได้มาอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้แบ่งปันซึ่งกันและกัน หรือหากมาร่วมพิธีไม่ได้ ก็ยังส่งความคิดถึงหากันได้นั่นเอง

นอกจากนี้พิธีกรรมการไหว้พระจันทร์แล้ว เครื่องเซ่นไหว้ และไส้ขนม ยังมีความหมายแฝงถึงความน่ารักชวนอมยิ้มไว้อีกด้วย เพราะสิ่งของที่นำมาเซ่นไหว้นั้น นอกจากเครื่องสำอาง(เดี๋ยวพี่หมอกิฟท์จะพูดถึงอีกครั้งในขั้นตอนพิธีกรรม)  จะมีความหมายและคำอวยพรที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะผลไม้ที่นำมาใช้ในพิธีกรรม อาทิเช่น

  • ทับทิม หมายถึง มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เพราะมีเมล็ดเยอะ
  • แอปเปิ้ล หมายถึง ความสงบสุข
  • ส้มโอ หมายถึง มีกินมีใช้
  • องุ่น หมายถึง มีแต่ความเพิ่มพูน
  • ส้ม หมายถึง สิ่งมหามงคล ความโชคดี ความมั่งคั่ง
  • สาลี่ หมายถึง การมีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต

นอกจากนี้ไส้ต่าง ๆ ของขนมไหว้พระจันทร์ ยังมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เช่น

  • เม็ดบัว หมายถึง จิตใจที่บริสุทธิ์ การมีอายุยืนยาว อ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข
  • ลูกพลัม หมายถึง ความกล้าหาญและความหวัง เปรียบเหมือนดอกพลัมที่ชูช่อในฤดูหนาว
  • ธัญพืช หมายถึง สัญลักษณ์ของโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์
  • เกาลัด หมายถึง ลูกชาย และสิ่งอันเป็นที่รัก
  • ถั่วแดง หมายถึง ความกล้าหาญ เพราะคนจีนมีความเชื่อว่าไตเป็นอวัยวะที่ขับความกลัวออกมา ซึ่งถั่วแดงที่มีรูปร่างคล้ายไต สามารถเพิ่มความกล้าได้

พิธีไหว้พระจันทร์ ต้องเตรียมอะไรบ้าง

การไหว้พระจันทร์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครอบครัว สำหรับของไหว้จะเป็น ผลไม้ หัวเผือก ขนมต่างๆ ซึ่งมักจะนิยมทำเป็นรูปทรงกลม เพื่อสื่อถึงดวงจันทร์ หรือมีลวดลายเกี่ยวกับดวงจันทร์ บางพื้นที่ไหว้ด้วยอาหารเจ ตามความเชื่อที่ว่า พระจันทร์เป็นผู้หญิง เป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ ตามพุทธศาสนาฝ่าย มหายาน หรือบางพื้นที่อาจจะไหว้เนื้อสัตว์ ตามศาสนาที่นับถือ

ส่วนเครื่องสำอาง คนจีนถือว่า พระจันทร์ เป็นหยิน (เพศหญิง) จึงนำเครื่องสำอาง หรือของสวยงามมาบูชา หลังจากไหว้เสร็จแล้วนำมาใช้ก็จะยิ่งสวยงาม หรือขอพรให้งดงามเหมือนดวงจันทร์ ตามอุดมคติคนจีนโบราณ

ขั้นตอนไหว้พระจันทร์

พิธีไหว้พระจันทร์จะไหว้กลางแจ้งหลังพระอาทิตย์ตกดินหรือเริ่มตอนหัวค่ำ (เมื่อเห็นพระจันทร์ก็สามารถไหว้ได้เลย) การตั้งโต๊ะจะจัดให้เรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า และเก็บก่อนที่พระจันทร์เลยหัวไปหรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้านหรือดาดฟ้าก็ได้

ของไหว้ประกอบไปด้วย

  • น้ำชาหรือใบชา 4 ถ้วย
  • อาหารเจ 4 อย่าง เช่น วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
  • ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี้ยะ สาคูแดง 4 ถ้วย ขนมโก๋สีขาว
  • ผลไม้ 4 อย่าง ควรเป็นผลไม้ที่เป็นมงคล
  • ดอกไม้สด 1 คู่ ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก เทียน 1 คู่ และกระถางธูป
  • ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง
  • โคมไฟ เพื่อให้มีชีวิตที่สว่างไสว
  • อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
  • กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง เช่น ค้อซี, กอจี๊, เนี้ยเก็ง, โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย คือ กระดาษเงินกระดาษทอง, เนี้ยเพ้า คือ ชุดเจ้าแม่พระจันทร์

จากนั้นนำขอทั้งหมดมาจัดวาง เริ่มจากการตั้งโต๊ะ มีซุ้มประตูที่ทำจากต้นอ้อยผูกโคมไฟไว้กับต้นอ้อยให้สวยงาม วางกระถางธูป เทียนไว้ด้านหน้าสุด ดอกไม้วางไว้สองข้าง ผลไม้จัดตามความสวยงาม

 ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ที่จัดเรียงเป็นชั้น วางขนมโก๋ และขนมหวานต่างๆ รอบโต๊ะวางประดับประดาด้วยกระดาษลวดลายที่มี อย่างไรก็ดีการจัดตั้งโต๊ะนั้นไม่ตายตัวเสมอไป แล้วแต่ใครมีวิธีการที่ต่างกันไปเน้นความสวยงามเป็นหลัก จากนั้นก็ไหว้อธิษฐานขอพรต่อพระจันทร์

ถ้าหากใครที่ไม่สะดวกจะเตรียมของมากมายดังที่กล่าวไว้ สามารถใช้เพียงขนมไหว้พระจันทร์หรือขนมอื่นๆ ร่วมด้วยแต่ต้องเป็นขนมรูปทรงกลม รวมไปถึงของใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง และโหลหรือชามใส่น้ำตั้งเอาไว้เพื่อให้เป็นแสงสะท้อนจากเงาจันทร์เสมือนว่าเราได้อาบแสงจันทร์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ไหว้นั่นเอง และสุดท้ายสิ่งที่หลายๆ คนหรือหลายๆ ครอบครัวจะได้จากการไหว้ใน วันไหว้พระจันทร์ ก็คือสมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้ากันเพราะวันดีๆ แบบนี้จะมีเพียงปีละครั้ง นอกจากนี้ยังจะได้รับประทานอาหารพร้อมหน้ากันภายใต้พระจันทร์เต็มดวง อันเป็นการนำความสุขสมบูรณ์มาสู่สมาชิกครอบครัวได้เป็นอย่างดี นับว่ามีคุณค่าแก่การสืบทอดและเผยแพร่ตลอดไป

**********