ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องยันต์

ไสยศาสตร์ว่าด้วยเรื่องยันต์


          ความหมายของยันต์  ตามความเชื่อของปรมาจารย์ เส้นที่ขีดลากไปมานอกยันต์นั้น หมายถึง "สายรกของพระพุทธเจ้า" ส่วนเส้นที่อยู่ภายในยันต์ เรียกว่า "กระดูกยันต์"  ยันต์มีหลายแบบต่างๆ กันไป เช่น ยันต์แบบกลม ยันต์สามเหลี่ยม ยันต์สี่เหลี่ยม ยันต์รูปภาพ ส่วนความหมายของยันต์แต่ละแบบมีดังนี้

          ๐ ยันต์กลม มีความหมายว่าเป็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึงพระพักตร์ของพระพรหม

          ๐ ยันต์สามเหลี่ยม มีความหมายว่าเป็นพระรัตนตรัย หรือภพทั้งสาม ส่วนทางศาสนาพราหมณ์ให้ความหมายว่าเป็นพระเป็นเจ้าทั้ง 3 ของพราหมณ์  คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์

          ๐ ยันต์สี่เหลี่ยม  มีความหมายว่าเป็นทวีปทั้งสี่ หรือธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

          ๐ ยันต์รูปภาพ  มีทั้งรูปภาพ เทวดา มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ ส่วนความหมายก็อยู่ในตัวของรูปภาพนั้นๆ


          การปลุกเสกยันต์  เมื่อมีการลงยันต์เสร็จแล้วจะต้องมีการปลุกเสกเพื่อทำให้ยันต์ขลังมีฤทธานุภาพตามจุดประสงค์ของยันต์นั้นๆ คาถาที่ใช้ในการปลุกเสกจะใช้คาถาที่กำกับยันต์นั้นหรือไม่ก็คาถาที่ใช้เขียนยันต์นั้น หรือใช้คาถาที่เกี่ยวข้องกับยันต์นั้นปลุกเสก เช่น ยันต์คงกระพันชาตรี ก็ใช้คาถาคงกระพันชาตรีเสก เป็นต้น  ส่วนมากคาถาที่ใช้ทั่วไปในการปลุกเสกยันต์คือ พระไตรสรณคมน์ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

          ๐ พระไตรสรณคมน์

          พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

          ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

          สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

          ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

          ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

          ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

          ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

          ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณิง คัจฉามิ

          ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ


          ๐ คาถาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

          - อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯ


          ๐ ธรรมคุณ

          - สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ ฯ


          ๐ สังฆคุณ

          - สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆอาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ


          การลงยันต์  การลงยันต์หรือการเขียนยันต์นั้นจะใช้อักขระขอม ซึ่งเขียนเป็นตัวย่อของพระคาถาแต่ละบท เพราะหากเขียนพระคาถาลงไปในยันต์ทั้งหมดเนื้อที่คงไม่พอ จึงใช้อักขระย่อ ส่วนตัวเลขที่อยู่ในยันต์ก็ย่อมาจากอักขระของพระคาถา ข้อควรระวังในการลากเส้นยันต์นั้นควรลากทีเดียวให้ตลอดไม่ใช่ลากแล้วหยุด หากลากแล้วหยุดถือว่ายันต์นั้นใช้ไม่ได้ ต้องใช้คาถาหรือสูตรในการต่อเส้นยันต์นั้นใหม่ยันต์นั้นจึงจะใช้ได้  และการลงอักขระให้ระวังอย่าลงอักขระทับเส้นยันต์เพราะจะทำให้ยันต์นั้นใช้ไม่ได้ ท่านเรียกว่าเป็นยันต์ตาบอด  การลงยันต์หรือการเขียนยันต์หากยันต์นั้นมีคาถาหรือสูตรกำกับไว้ผู้เขียนจะต้องภาวนาคาถานั้นไปด้วยพร้อมกันการลงยันต์ ฉะนั้นจึงต้องใช้สมาธิสูง ส่วนขั้นตอนและวิธีการลงยันต์พร้อมทั้งสูตรต่างๆ ยังมีอีกมากครับ