คำศัพท์โหราศาสตร์ไทย EP3: ว่าด้วยเรื่องของปีและลัคน์ By หมอกิฟท์นางมารพยากรณ์

 ในภาษาไทยเรามีศัพท์หมวดอยู่แล้วหลายหมวดเช่น ราชาศัพท์, สมณโวหาริกศัพท์ หากจะเพิ่มศัพท์โหราศาสตร์ขึ้นอีกสักหมวด ก็คงจะไม่ไร้ประโยชน์นัก วันนี้พี่หมอกิฟท์นางมารพยากรณ์ จะขอนำเสนอเรื่องของคำศัพท์ทางโหราศาสตร์ไทย ที่มีสอดเเทรกในตำราเอกสารเก่าๆของไทยซึ่งจะมีทั้งหมด 3 EP. ที่จะประกอบไปด้วยคำศัพท์ของวัน เดือน และปี โดยในบทความนี้จะเป็น EP3: ว่าด้วยเรื่องของปีและลัคน์ โดยสังเขปดังนี้

ปี : มักผูกศัพท์ไว้ดังนี้

ชวด(หนู) มุสิก

ฉลู (วัว) อุสุภ

ขาล (เสือ) พยัคฆ

เถาะ(กระต่าย) ศศ สัตะ สักษะ

มะโรง (มังกร/พญานาค/งูใหญ่) นาคะ

มะเส็ง (งู/งูเล็ก) สัปป สัป

มะเมีย (ม้า) อัสส อัษะ

มะแม (เเพะ) อัชช อัชฉ เอฬก

วอก(ลิง)  มักกฎ วานร

ระกา (ไก่) กุกกุฎ

จอ (หมา) โสณ สุนัข สุนักข

กุน (หมู) ศุกร สุกร       

ลัคน์

     (รูปที่1)

    ลัคน์ หรือ ลัคนา ก็คือเวลาเกิด ซึ่งโหรจะคำนวณแล้ววางไว้ตามราศีที่คำนวณได้ เป็นเครื่องมือพยากรณ์เจ้าชาตา จะดูดีดูร้ายก็อาศัยลัคนานี้แหละเป็นเครื่องพยากรณ์ มักปรากฏในดวงเป็นอักษร ส แต่ที่จริงนั้นคือตัว ล แต่เป็น ล ขอม โหรโบราณท่านเป็นขอม, ท่านก็เขียน ล ขอมหวัดลงไป (รูปที่ 1) ดังนี้. โหรสมัยหลังนี้ไม่เป็นขอม เห็นอาจารย์เขียน ล ขอมหวัดคิดว่าเป็นตัว ส ของไทย ก็เลยเขียน ส ลงไปชัดๆ

         จากEP1-3 : เป็นการว่าด้วยคำศัพท์โหราศาสตร์ไทยในเรื่องของวันเดือนปี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับดวงดาวต่างๆ ในท้าย EP 3 นี้ หมอกิฟท์ของเพ่ิมเติมเรื่องราวของดวงดาวที่มีความเกี่ยวข้องกับเทวาสถิตคราว ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าเรื่องเทวาประจำดาวต่างๆตามหลักนิทานชาติเวร หรือตำนานชาติเวรอีกครั้ง 

           คำ “เทวา” ในรามเกียรติ์ ฉบับ ร. 1 ที่ความว่า “เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น” นั้นจะเป็นเทวดาที่เป็นรูปกายดังที่เรารู้จักกันหามิได้ คือดาวเคราะห์นั่นเอง  ถือเป็นสำนวนโวหารของโหรโบราณซึ่งสมมุติดาวเคราะห์ทั้งหลายเป็นเทวดา ดังมีคำพยากรณ์ว่า “เทวดาร้ายๆ จรมาต้องลัคนาในราศีนระกลายเป็นองค์เกณฑ์ สงบความร้ายสิ้น”ิ     อาจถือเป็นหลักฐานอันหนึ่งทางโหราศาสตร์ ว่าเมื่อสมัย ร. 1 นั้น ยังมีดาวเคราะห์แค่ 8 ดวง ได้พบตำราโหราศาสตร์เล่มหนึ่งว่าด้วยดาวเคราะห์กระทบกัน จ่าหัวว่า “ทศเคราะห์โคจร” แต่อ่านไปในคำพยากรณ์แล้วก็มีแค่ราหูเท่านั้น